fbpx

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

         คนไข้หลายคนเลยนะครับที่ยังมีคำถามมากมาย เรื่องการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงในการทำศัลยกรรมจมูก จนไม่รู้ว่าเคสแบบเรานั้นควรเลือกใช้แบบไหนระหว่าง กระดูกอ่อนซี่โครงของตัวเอง หรือ กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค วันนี้หมอเลยมาไขข้อข้องใจตอบชัดให้ทุกประเด็นแบบเข้าใจง่ายๆ สำหรับไว้ให้ทุกคนใส่เป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ เมื่อต้องทำศัลยกรรมกันนะครับ

การเสริมจมูกใหม่และแก้จมูก โดยใช้กระดูกอ่อนซี่โครงของตัวเอง
(Autologous Costal Cartilage | Rib Cartilage Rhinoplasty)

        การนำกระดูกซี่โครงของคนไข้มาใช้ในการผ่าตัด โดยปกติแพทย์จะเลือกใช้กระดูกอ่อนซี่โครง (Rib) ซี่ที่ 6,7 หรือ 8 บริเวณข้างขวาของคนไข้ ซึ่งจะผ่าตัดนำออกมาในปริมาณตามดุลยพินิจของแพทย์ และก่อนตัดสินใจใช้กระดูกอ่อนซี่โครงนั้น คนไข้จำเป็นต้องตรวจ CT-Scan Chest (ทรวงอก) เพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ประเมิน ดังนี้

  1. เพื่อวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และความยาว ส่วนที่เป็นกระดูกอ่อน (Costal Cartilage) ของซี่โครง (Rib) แต่ละซี่
  2. ตรวจดูคุณภาพของกระดูกอ่อนซี่โครง (Rib Cartilage) ว่าดีพอที่จะนำมาใช้งานได้หรือไม่ มีหินปูนเกาะแทรกมากน้อยเพียงใด (Degree of Calcification)
  3. ตรวจดูว่ากระดูกอ่อนซี่โครงที่ได้คุณภาพนั้น มีปริมาณพอสำหรับการนำมาตกแต่งและเสริมโครงสร้างจมูก ตามปัญหาที่ต้องการแก้ไขของคนไข้หรือไม่
  4. ตรวจดูความผิดปกติ หรือ พยาธิสภาพในทรวงอก รวมถึงปอดว่าพร้อมเพียงใด เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัดและการดมยาสลบหรือไม่
ไขข้อข้องใจ กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง VS ซี่โครงบริจาค ต่างกันอย่างไร ?

       หลังจากตรวจตามผลของ CT-Scan Chest (ทรวงอก) แล้ว แพทย์จะทำการสรุปการประเมินว่าคนไข้สามารถใช้กระดูกอ่อนซี่โครงของตัวเองในการผ่าตัดเพื่อแก้ไขจมูกได้หรือไม่ครับ  ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการแก้ไขโครงสร้างจมูกไม่ว่าจะเป็นการเสริมใหม่ หรือแก้จมูกก็ตามครับ สรุปคือแพทย์จำเป็นต้องดูว่าคุณภาพกระดูกอ่อนซี่โครงของตัวคนไข้เองนั้น ใช้ได้ไหม และหากนำมาใช้จะสามารถแก้ไขปัญหาตามที่คนไข้ต้องการได้หรือไม่ครับ

       นอกจากตรวจ CT-Scan Chest (ทรวงอก) แล้วสิ่งที่จำเป็นต้องตรวจด้วย คือ แพทย์ผ่าตัดจะให้ตรวจประเมินร่างกาย (Physical Examination) ตรวจเลือด (Blood Test) ตรวจเอ็กซ์เรย์ปอด (Chest X-ray) ดูความสามารถในการแข็งตัวของเลือด (Coagulogram) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) และอาจมีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามปัญหาสุขภาพและอายุของคนไข้แต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้วิสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist)  ประเมินความพร้อมทางด้านร่างกายของคนไข้ ว่ามีความพร้อมและมีความปลอดภัยที่จะผ่าตัดแบบดมยาสลบได้หรือไม่ครับ

ขั้นตอนการผ่าตัด เพื่อเก็บกระดูกอ่อนซี่โครง (Rib Cartilage Harvesting) มีดังนี้

        แพทย์จะเปิดแผลผ่าตัดบริเวณซี่โครงซี่ที่ต้องการ เป็นแผลขนาดเล็กประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร แต่ในกรณีคนไข้เคสที่มีผิวและชั้นไขมันค่อนข้างหนา แพทย์อาจจำเป็นต้องเปิดแผลผ่าตัดยาวขึ้น เพื่อเพิ่มการมองเห็น field ผ่าตัดได้มากขึ้นนั้นเองครับ โดยการผ่าตัดเพื่อเก็บกระดูกอ่อนซี่โครงแบบนี้ ต้องทำการผ่าตัดแบบดมยาสลบ (General Anesthesia) จะดีที่สุดครับ ถ้าเป็นผู้หญิงแพทย์ก็จะเปิดแผลใต้ราวนม ในกรณีนี้ใครที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนมาก่อนจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้งนะครับ เพราะแพทย์จะได้วางแผนผ่าตัด เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนซิลิโคนเต้านมที่คนไข้เสริมมานั้นเองครับ

ไขข้อข้องใจ กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง VS ซี่โครงบริจาค ต่างกันอย่างไร ?

การดูแลแผลหลังการผ่าตัด เมื่อใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง
(Postoperative Cares)

        การดูแลแผลหลังการผ่าตัด เมื่อใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง (Postoperative Cares) เป็นสิ่งที่คนไข้หลายคนกังวลเยอะนะครับ ว่าจะดูแลยังไง ? ดูแลยากไหม ? ลำบากมากไหม ? วันนี้หมอมีคำตอบให้ครับ แต่ก่อนอื่นแจ้งให้ทุกคนเข้าใจก่อนนะครับว่าการที่เราผ่าตัดเพื่อใช้ซี่โครงตัวเองนั้น หลังผ่าตัดเราสามารถขยับตัว เดิน และใช้ชีวิตได้ตามปกตินะครับ เพื่อแต่ไม่ยกของหนัก ไม่กระแทกหรือใช้แรงเยอะ ๆ ในช่วงหลังผ่าตัด 30 วันครับ

การดูแลแผลหลังการผ่าตัด เมื่อใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง (Postoperative Cares) มีดังนี้

  1. วันที่ 1-2 วันแรก หลังผ่าตัดจะทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดที่จมูกเท่านั้น เราจะไม่ยุ่งกับแผลบริเวณซี่โครงที่ปิดแผลไว้
  2. วันที่ 3 หลังผ่าตัด เปิดแผลบริเวณซี่โครง
  3. หลังเปิดแผล ให้ทำความสะอาดแผล ด้วย Normal Saline และทาเจลช่วยป้องกันแผลเป็น ปล่อยให้แห้งแล้วเคลือบด้วย ขี้ผึ้งยาฆ่าเชื้อ เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะแห้งสนิท ทำต่อเนื่องจนถึงกำหนดวันมาตัดไหม
  4. กำหนดวันตัดไหม 7-14 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการหายของบาดแผล ในคนไข้แต่ละบุคคล
  5. งดออกกำลังกายหนัก 30 วันหลังผ่าตัด
  6. หลังตัดไหม สามารถทาเจลเพื่อป้องกันแผลเป็นบาง ๆ เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหายสนิท
  7. หลังผ่าตัดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก อาจมีการปวดบริเวณแผลผ่าตัด หลังจากนั้นอาการปวดจะลดลงตามลำดับ

หมายเหตุ : ในบางเคสหลังการเสริมโครงสร้างจมูก (Structural Rhinoplasty) แล้วมีกระดูกอ่อนบางชิ้นที่ไม่ได้ใช้ หรือเหลือบางส่วน แพทย์จะเก็บไว้ในบริเวณลึก ๆ ของแผลผ่าตัด หรือในบางเคสอาจเก็บใต้หนังศีรษะบริเวณท้ายทอยด้านข้าง เมื่อจำเป็นต้องใช้ภายหลัง จึงไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเก็บซี่โครงใหม่

ข้อดี - ข้อเสีย ของการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง
ในการเสริมจมูก หรือแก้จมูก

ข้อดี

ข้อเสีย

  1. มีปริมาณมากพอ (Adequate Amount) และมีความแข็งแรงพอ (Strong Support) สำหรับคนไข้ที่ต้องการกระดูกอ่อนในการทำศัลยกรรมจมูก แบบแก้ไขโครงสร้างจมูกใหม่ (Structural Rhinoplasty) ไม่ว่าจะในเคสเสริมใหม่ หรือเคสแก้จมูก โดยเฉพาะในเคสผ่าตัดที่มีโครงสร้างจมูกดังต่อไปนี้

    • เคสที่มีโครงสร้างจมูกเดิมสั้นและเชิด จำเป็นต้องยืดปลายจมูกด้วยกระดูกอ่อนที่มีความแข็งแรงพอ (Short & Upturn Nose) การเลือกใช้กระดูกอ่อนซี่โครงจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

    • เคสที่มีผนังกั้นกลางจมูกคด (Deviated Nasal Septum) และโครงสร้างจมูกส่วนกลางมีปัญหา (Mid Vault Collapse) เพื่อการแก้ไขที่ดีที่สุด แพทย์ต้องใช้กระดูกอ่อนที่มีความแข็งแรงพอ และปริมาณมากพอในการแก้ไขโครงสร้างจมูกใหม่

    • เคสที่มีเนื้อเยื่อหุ้มจมูกค่อนข้างหนา  ผิวมัน และยืดได้ค่อนข้างยาก (Thick, Oily skin soft tissue envelope) หรือเคสที่มีพังผืดจากการผ่าตัดครั้งก่อน ๆ ค่อนข้างมาก (Contracted Nose)

    • เคสที่มีปัญหาโครงสร้างจมูกค่อนข้างมาก (Difficult Cases)

    • งานแก้ (Revision Rhinoplasty) โดยเฉพาะเคสที่มีปัญหาจากการเสริมด้วย Silicone มาแล้ว เคสที่เคยใช้กระดูกอ่อนผนังกั้นกลางจมูก (Septum) และกระดูกอ่อนใบหู (Ear Cartilage) มาแล้ว

  1.  
  2. มีความสามารถในการต่อต้านการติดเชื้อได้ดี (Good Resistance for Infection)

  3. สามารถใช้เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง มาหุ้มบริเวณที่ผิวของจมูกบางมากๆ ได้ เช่น ในเคสที่ปลายจมูกบาง เป็นต้น

  1. ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดนานขึ้น (Prolong Operative Time)
  2. มีแผลเป็นบริเวณใต้ราวนมฝั่งขวา (Chest wall scar) แต่แผลผ่าตัดจะค่อย ๆ ลดลงตามเวลาและปัจจัยของแต่ละบุคคล
  3. เนื่องจากกระดูกอ่อนซี่โครง เป็นกระดูกอ่อนประเภท Hyaline Cartilage (กระดูกอ่อนขาว) เมื่อกระดูกมีอายุมากขึ้น ก็จะมีการสะสมตัวของแคลเซียมในกระดูกเพิ่มขึ้น (Calcium Deposit/ Calcification) โดยเฉพาะผู้หญิง เมื่อเรานำมาศัลยกรรมจมูก จึงอาจทำให้เมื่อคลำบริเวณที่ใช้กระดูอ่อนซี่โครงจะมีความแข็ง (Rigidity) มากกว่าการใช้กระดูกอ่อนใบหู (Ear Cartilage) ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนชนิด Elastic Cartilage (กระดูกอ่อนยืดหยุ่น)
  4. การผ่าตัดจึงต้องได้มาตรฐานระดับสากล และต้องทำผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์เพราะเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ในการผ่าตัดเอากระดูกอ่อนซี่โครงออกมา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
    • ภาวะปวดแผลผ่าตัด (Postoperative Pain)
    • ภาวะเลือดออกหลังผ่าตัด (Postoperative Bleeding)
    • การแตกหักของกระดูกอ่อน (Grafting Fracture) ในคนไข้ที่มีปริมาณแคลเซียมมาเกาะที่กระดูกปริมาณมาก (High Degree Calcification)
    • ภาวะเนื้อเยื่อหุ้มปอดฉีกขาด (Pneumothorax)

การเสริมจมูกใหม่และแก้จมูก โดยใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค
(Donate Rib/ Cadaveric Costal Cartilage / Allograft Cartilage)

         เป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง หรือศัลยกรรมจมูก (Rhinoplasty) โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถใช้กระดูกอ่อนซี่โครงของตัวเองได้ (Autologous Costal Cartilage) ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กระดูกอ่อนปริมาณมากและแข็งแรงเพียงพอในการตกแต่งและเสริมโครงสร้างจมูกใหม่ (Structural & Reconstruction Rhinoplasty)

         บริษัทผู้ผลิตแต่ละแห่งจะมีขบวนการ (Processing) ในการกำจัดเชื้อโรค และสิ่งที่ปนเปื้อนที่เราไม่ต้องการออก โดยมีกระบวมการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • Hydroxide oxidation
  • Demineralization
  • Lyophilization
  • Gamma Ray Irradiation (Irradiated Homologous Costal Cartilage; IHCC)
  • Freeze – Dried Process

         ท้ายสุดก็จะได้กระดูกอ่อนซี่โครงที่ไม่มีชีวิตแล้ว (Nonvital Chondrocyte) ปะปนกับ Collagen และเนื้อเยื่อชนิด Proteoglycan บางส่วน

ข้อบ่งชี้ในการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค (Donate Rib)

การใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีข้อจำกัดในการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง เช่น

  1. ดมยาสลบไม่ได้ หรือไม่ต้องการผ่าตัดแบบดมยาสลบ
  2. อายุมาก
  3. มีโรคประจำตัวหลายอย่าง
  4. คุณภาพของกระดูกอ่อนซี่โครงตัวเองไม่ดีพอจะนำมาใช้ เช่น มีปริมาณการเกาะของหินปูนแคลเซียมมาก (High Degree Calcification) หรือมีการสะสมของหินปูนแคลเซียมที่สมบูรณ์ไปแล้ว (Complete Calcification)

ข้อดี - ข้อเสีย ของการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค
ในการเสริมจมูก หรือแก้จมูก

ข้อดี

ข้อเสีย

  1. ระยะเวลาในการผ่าตัด จะใช้เวลาสั้นกว่าหารผ่าตัดแบบใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง
  2. สามารถผ่าตัดโดยไม่ต้องดมยาสลบได้ คือ ใช้การผ่าตัดแบบใช้ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) ยกเว้นในกรณีเคสยากที่แก้จมูกมาหลายครั้ง
  3. ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดใต้ราวนม (Donor Site Morbidity)
  1. ความสามารถในการต่อต้านภาวะติดเชื้อน้อยกว่ากระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง
  2. เนื่องจากมีการผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ และกระบวนการกำจัดสิ่งปนเปื้อน (Sterilization & Processing) มาก่อน จึงอาจจะมีความเปราะมากกว่า (Brittle)
  3. ไม่สามารถใช้เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนบริจาคมาหุ้มปลายจมูก กรณีปลายจมูกบางได้

งานวิจัยเรื่องผลกระทบหลังการใช้กระดูกอ่อนซี่โครง

         ในวงการทางการแพทย์ มีงานวิจัยมากมายเรื่องการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเองในการศัลยกรรมจมูก และมีการศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบที่จะตามมาของชิ้นกระดูกอ่อนซี่โครง ที่เรานำมาใช้อยู่หลายงานวิจัยเลยครับ หมอเลยขออนุญาตรวบรวมมาให้ทำความเข้าใจกันแบบง่ายๆ ดังนี้

  1. มีสถิติตาม Meta-analysis[1] ของสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของเกาหลี 10 งานวิจัย ที่รายงานระหว่างปี ค.ศ. 1946-2013 จำนวนเคสผ่าตัดทั้งหมด 491 ราย โดยติดตามอาการคนไข้หลังผ่าตัดด้วยกระดูกอ่อนซี่โครงตัวเองนาน 1 ปีครึ่ง – 8 ปี พบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่ละอย่างโดยเฉลี่ย ดังนี้
    • การคดงอของกระดูกอ่อน (Warping) เกิดขึ้นอยู่ที่ 1 – 5%
    • การย่อยสลาย (Resorption) และการขรุขระของผิวกระดูก (Contour Irregularity) เกิดขึ้นอยู่ที่ 1 – 2%
    • การติดเชื้อ (Infection) เกิดขึ้นอยู่ที่ 2 – 5%
    • เคลื่อนไปผิดที่ (Displacement) เกิดขึ้นอยู่ที่ 1%
    • ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ (Revision Surgery) เกิดขึ้นอยู่ที่ 2 – 12%

 

  1. มีสถิติตาม Meta-analysis[2] ของสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของ 11 ประเทศทั่วโลก ที่รายงานระหว่างปี ค.ศ.1990 – 2017 จำนวนเคสผ่าตัดด้วยกระดูกอ่อนซี่โครงทั้งหมด 1041 ราย แยกเป็นใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง 741 และใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาค 293 ราย ในกรณีที่ใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาคแบบเป็นชิ้น (Enblock) บริเวณสันจมูก (Dorsal Onley Graft)
    • กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาคแบบ IHCC ทั้งหมด 153 เคส มีระยะเวลาติดตามอาการนานเฉลี่ย 31.2 เดือน (5.4-57 เดือน)
    • กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาคแบบ Tutoplast ทั้งหมด 140 เคส มีระยะเวลาติดตามอาการนานเฉลี่ย 18.7 เดือน (0.0-79.1 เดือน)
    • กระดูกอ่อนซี่โครงของตนเอง (Autologous Costal Cantillate) ทั้งหมด 741 เคส มีระยะเวลาติดตามอาการนานเฉลี่ย 23.2 เดือน (13.8-32.7 เดือน)

 

พบอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่ละอย่างโดยเฉลี่ย ดังนี้

    • การย่อยสลาย (Resorption) 2% (0-2%)
    • ภาวะการติดเชื้อ (Infection) 2% (0-4%)
    • ภาวะการคดงอ (Warping) 5% (3-9%)
    • ผิวไม่เรียบ (Contour Irregularity) 1% (0-3%)
    • ต้องมีการผ่าตัดแก้ไขซ้ำ (Revision Surgery) 5% (2-9%)

หมายเหตุ : พบว่าอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงบริจาคทั้ง 2 แบบและการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงตัวเอง ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติอย่างมีนัยยะสำคัญ

[1] *อ้างอิงจากบทความชื่อ Autologous Rib Cartilage Rhinoplasty Complications, JAMA Facial Plastic Surgery, January/February 2015 Volume 17,Number 1
[2] *อ้างอิงจากบทความวิชาการชื่อ Comparison of Autologous vs Homologous Costal Cartilage Grafts in Dorsal Augmentation Rhinoplasty: A Systematic Review and Meta-analysis จากวารสาร JAMA Otolaryngol Head Neck Surg. 2020 Apr 1;146(4):347-354

มีคำถามเกี่ยวกับการใช้กระดูกอ่อนซี่โครงอยู่ใช่ไหม?

สำหรับใครที่สนใจเสริมจมูก หรือแก้จมูก ด้วยกระดูกอ่อนซี่โครง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและประเมินราคาการเสริมจมูกเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับที่ปรึกษาด้านความงามของดร.กร เอสเทติค คลินิก ได้ที่ไลน์ @dr.gornaesthetique มีแพทย์ช่วยประเมินออนไลน์ได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย!

พร้อมให้บริการแล้วทั้ง 4 สาขา ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก หรืออุตรดิตถ์ ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าโดยตรงที่มีประสบการณ์มากกว่า 24 ปี

บทความโดย Dr.Gorn’s Facial Plastic Teams