วันนี้หมอจะมาตอบคำถามที่คนไข้ถามหมอบ่อยมากเลยนะครับ “คุณหมอถ้าเราผ่าตัดเอากระดูกอ่อนซี่โครงออกมาเสริมจมูกแล้ว ตรงบริเวณซี่โครงที่หมอเอาออกมาจะเป็นอะไรไหม เสี่ยงอะไรหลังจากนั้นหรือป่าว ?” หมอขอแบ่งเป็น 2 ประเด็นนะครับ ประเด็นแรก คือ กระดูกอ่อนซี่โครงที่หมอผ่าตัดเอาออกมานั้นจะเป็นกระดูกอ่อนซี่ที่ 6 – 8 ซึ่งเป็นส่วนที่ร่างกายเราไม่ได้ใช้งาน คล้ายๆ เป็นเหมือนอะไหล่ไว้ให้ร่างกายเราประมาณนั้นครับ การนำออกมาจึงไม่ส่งผลกระทบอะไรกับระบบการทำงานของร่างกายนั้นเองครับ
ส่วนประเด็นที่สอง คือ หลังจากผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมานั้นเสี่ยงไหม หมอต้องบอกเลยว่าการผ่าตัดนำกระดูกซี่โครงออกจะมีผลกระทบที่ตามมาอยู่แล้วครับ แต่จะเกิดมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น หมอจะขออธิบายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในบางคนเท่านั้นนะครับ
กลุ่มที่ 1 คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน ได้แก่อะไรบ้าง ?
1.รอยแผลผ่าตัดที่หน้าอก (Surgical Scar)
เป็นสิ่งที่ต้องเจอแน่นอนครับ เนื่องจากเรามีการผ่าตัดบริเวณใต้หน้าอก เพื่อนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา โดยแผลจะมีขนาดตั้งแต่ 1.5 – 4 เซนติเมตร ซึ่งขนาดของแผลขึ้นอยู่กับความหนาของชั้นไขมันที่หน้าอกบริเวณที่ผ่าตัด และความยาวของกระดูกอ่อนซี่โครงที่แพทย์ต้องนำออกมานะครับ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการนำกล้อง (Endoscope) มาช่วยในการผ่าตัดเพื่อช่วยให้ลดขนาดแผลผ่าตัดให้เล็กลง หรือบางเคสอาจเลือกการผ่าตัดผ่านแผลบริเวณรอบลานหัวนมก็จะช่วยให้ลดการเห็นรอยแผลผ่าตัดได้ โดยรอยแผลผ่าตัด (Surgical Wound) มักจะเห็นชัดในช่วง 1-3 เดือนแรก หลังจากนั้นแผลจะค่อยๆ จางลดจนสีใกล้เคียงผิวหนังบริเวณข้างเคียงครับ
ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่คนไข้กังวลเยอะ คือ แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) และแผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) หลังผ่าตัด หมอจะบอกว่ากรณีแบบนั้นไม่ได้เกิดกับทุกเคสนะครับ โดยเฉพาะแผลเป็นคีลอยด์นั้นโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะว่าเราสามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ด้วยวิธีต่างๆ ได้ เช่น การเลือกเทคนิคการผ่าตัดที่มีการรบกวนต่อขอบแผลน้อย มีการตกแต่งและเย็บแผลที่เหมาะสม มีการดูแลแผลหลังผ่าตัดที่ดีตามแพทย์แนะนำ การดูแลเหล่านี้จะสามารถลดโอกาสเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เราไม่อาจควบคุมได้ คือ พันธุกรรมของแต่ละบุคคลครับ เช่น พันธุกรรมเป็นคนที่เป็นแผลเป็นง่าย เป็นต้น
ในกรณีที่หลังผ่าตัดแล้วเกิดแผลเป็นนูน หรือแผลเป็นคีลอยด์ แพทย์มีวิธีแก้ไข คือ อาจเริ่มจากการใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) ฉีดที่แผลเพื่อให้แผลนูนนั้นยุบตัวลง เลเซอร์ลดรอยแผลเป็นนูนใช้ในกรณีที่แผลเป็นนั้นนูนมาก หรือในเคสที่ใช้วิธีแรกแล้วไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาใช้การผ่าตัดแก้ไขแผลเป็นนูน หรือแผลเป็นคีลอยด์ เพื่อตกแต่งแผลและเย็บใหม่ให้เหมาะสมเป็นลำดับสุดท้ายครับ
2. อาการปวดแผลหลังผ่าตัด (Postoperative Pain)
อาการปวดนี้เกิดเนื่องจากการผ่าตัดมีการไปรบกวนกล้ามเนื้อผนังช่องอกและเยื่อหุ้มกระดูกอ่อนซี่โครง ซึ่งถ้าหากมีการรบกวนกล้ามเนื้อเหล่านี้มากก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลังผ่าตัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเคสที่มีการตัดกล้ามเนื้อบางส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเราสามารถระงับอาการปวดได้ด้วยการฉีดยาแก้ปวด ใน 24 – 48 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด และรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยากลุ่ม NSAIDS หลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์แรกเพื่อลดอาการปวดก็เพียงพอแล้วครับ หลังจากนั้นอาจจะเหลืออาการปวดบางเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ข้อควรระวังหลังผ่าตัด คือ ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ควรงดออกกำลังกายหนัก และงดการยกของหนักต่างๆ ครับเพราะจากกระทบการแผลผ่าตัดได้ครับ
3. อาการรู้สึกหายใจเข้าไม่สุด หรือหายใจตื้นหลังผ่าตัด (Shallow Breathing)
อาการหายใจตื้นและหายใจเร็วจะพบในช่วงแรกหลังผ่าตัด เนื่องจากอาการปวดบริเวณแผลที่ผ่าตัดทำให้หายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ เพราะการหายใจเข้ามากๆ นั้นทำให้ไปขยายทรวงอกให้กว้างขึ้น จึงไปกระตุ้นอาการปวดแผลได้ เมื่ออาการปวดดีขึ้นการหายใจก็จะกลับมาเป็นปกติครับ ในระยะยาวการนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาเสริมจมูกนั้น ไม่มีผลต่อการหายใจของเรานะครับ เนื่องจากกระดูกซี่โครงที่นำออกมาเป็นกระดูกอ่อนและมีขนาดไม่ใหญ่มาก (ใช้ประมาณ 5-7 เซนติเมตร) จึงไม่ส่งผลต่อการขยายตัวของช่องอกเวลาเราหายใจเข้าหรือออก อย่างไรก็ตามถ้าให้สังเกตตัวเองด้วยนะครับ หากมีอาการหายใจไม่สุด แน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายในช่วงหลังผ่าตัดมาระยะหนึ่งแล้ว ควรรีบแจ้งแพทย์ผู้ผ่าตัดทันที เพราะอาจเกิดจากมีภาวะเยื่อหุ้มปอดรั่วเป็นสาเหตุร่วมด้วยได้ครับ
กลุ่มที่ 2 คือ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในบางคนเท่านั้น
1. แผลติดเชื้อหลังผ่าตัด (Surgical wound infection)
การติดเชื้อของแผลหลังผ่าตัด อาจเกิดขึ้นได้ครับ แผลมักจะมีอาการบวมแดง กดแล้วเจ็บมาก ถ้าอาการติดเชื้อเป็นมากจะมีหนองไหลออกมาจากแผลได้ อย่างไรก็ตามภาวะแผลติดเชื้อนี้เราสามารถป้องกันได้ โดยการทำความสะอาดแผลหลังผ่าตัดด้วยยาฆ่าเชื้อและน้ำเกลือที่สะอาด ร่วมกับมาตรวจและติดตามอาการหลังผ่าตัดกับแพทย์อย่างเคร่งครัดครับ
2. ภาวะเลือดออก (Hemorrhage) หรือเลือดคั่งหลังผ่าตัด (Hematoma)
เคสส่วนใหญ่มักจะไม่มีภาวะเลือดออกตามมาหลังผ่าตัดครับ ยกเว้นกรณีคนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคเลือดออกง่าย หรือใช้ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเกร็ดเลือดเป็นประจำ อาจจะเกิดภาวะเลือดออกหลังผ่าตัดได้ครับ เนื่องจากการผ่าตัดทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ หรือเส้นเลือดขนาดเล็กตามเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ กระดูกอ่อนซี่โครง หลังจากผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา บริเวณดังกล่าวจึงอาจจะเกิดภาวะเลือดออกได้ครับ แต่ไม่ใช่เลือดออกจำนวนมากจากการบาดเจ็บเส้นเลือดแดงขนาดใหญ่ เพราะแพทย์ผู้ผ่าตัดจะทำการห้ามเลือดหลังผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาทุกครั้ง ดูจนแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกต่อแล้ว จึงจะทำการเย็บปิดแผลผ่าตัดครับ
3. ภาวะเยื่อหุ้มปอดรั่ว (Pneumothorax)
ภาวะนี้เกิดจากการบาดเจ็บของเยื่อหุ้มปอดขณะผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาได้ครับ ซึ่งอาจอาการของภาวะนี้ อาจจะเป็นเพียงอาการเล็กน้อย หรือเป็นถึงขั้นอาการรุนแรงมีผลต่อระบบการหายใจ จนต้องใส่สายระบายลมออกจากช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอดได้ แต่ภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากครับ หากแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการผ่าตัดนำกระดูกซี่โครงออกมาอยู่แล้ว ขณะผ่าตัดจะต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่อเยื่อหุ้มด้านหลังกระดูกอ่อนซี่โครงที่ติดกับเยื่อหุ้มปอด และหลังจากนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาแล้ว แพทย์ผู้ผ่าตัดจะทำการตรวจเช็คว่ามีลมรั่วออกมาจากปอดในบริเวณที่ผ่าตัดหรือไม่ ก่อนทำการเย็บปิดแผลผ่าตัด
4. ภาวะผนังทรวงอกบริเวณที่ผ่าตัด ยุบตัวผิดรูป (Chest wall deformity)
เกิดจากการที่นำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาแล้ว เนื้อเยื่ออ่อนผนังทรวงอกมีการยุบตัวไปแทนที่ตำแหน่งช่องว่างที่แพทย์ได้นำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา ซึ่งมักเกิดและเห็นได้ชัดเจนในคนไข้ที่ผอม หรือในคนไข้ที่มีการนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกหลายตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น ในเคสคนไข้ที่ไม่มีใบหูตั้งแต่กำเนิด จำเป็นต้องนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาหลายชิ้นเพื่อให้ได้บริมาณที่มากพอที่แพทย์จะนำไปใช้ในการผ่าตัดตกแต่งใบหูใหม่ แต่ในกรณีที่เรานำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาใช้สำหรับเสริมจมูก หรือแก้จมูก แพทย์มักจะใช้เพียงหนึ่งชิ้น ผ่าตัดเพียง 1 ตำแหน่ง และนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาขนาดประมาณ 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น จึงลดโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะผนังทรวงอกบริเวณที่ผ่าตัด ยุบตัวผิดรูป (Chest wall deformity) โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีผนังทรวงอกหนา จะไม่เกิดภาวะนี้ครับไม่ว่าจะมองจากภายนอก หรือคลำบริเวณแผลผ่าตัดที่นำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมา ส่วนกรณีคนไข้ผอมอาจจะคลำแล้วเจอช่องวางที่นำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาได้บางครับ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทางการแพทย์เรามีเทคนิคการลดช่องวาง โดยการนำกระดูกอ่อนซี่โครงที่นำออกมาแล้วเหลือจากการใช้ในการเสริมจมูก ร่วมถึงเนื้อเยื่อไขมัน นำมาใส่ทดแทนในช่องว่างดังกล่าว เพื่อช่วยให้ลดช่องว่างนี้ให้คลำเจอได้ยากขึ้นแม้ในคนไข้ที่ผอมก็ตามครับ
สรุปเรื่องผลกระทบ หลังการนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาเสริมจมูก
จากผลกระทบที่มีโอกาสเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดนำกระดูกอ่อนซี่โครงออกมาเสริมจมูกที่ทั้ง 2 กลุ่มข้างต้น หมอขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับใครที่มีความกังวลอยู่นะครับ ภาวะทั้งหมดที่หมอพูดมานั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ ครับ เพราะเราสามารถป้องกันภาวะที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเลือกเทคนิคที่ดี คลินิกหรือสถานพยาบาลที่ดีได้มาตรฐาน รวมถึงเลือกแพทย์ผู้ผ่าตัดที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการผ่าตัดกระดูกอ่อนซี่โครงอย่างดี และอีกหนึ่งเรื่องจำเป็น คือ ก่อนตัดสินใจผ่าตัดหมอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ผ่าตัดและตรวจอย่างละเอียดก่อนนะครับ เพื่อให้ทั้งเราและแพทย์ผู้ผ่าตัดได้มีข้อมูลในการวางแผนการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัยสำหรับตัวเราเอง และหลังผ่าตัดได้ซึ่งผลลัพธ์ที่พอใจนะครับ
มีคำถามเกี่ยวกับ "เสริมจมูกกระดูกอ่อนซี่โครง" อยู่ใช่ไหม ?
สำหรับใครที่สนใจเสริมจมูก หรือแก้จมูก ด้วยกระดูกอ่อนซี่โครง อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและประเมินราคาการเสริมจมูกเบื้องต้นด้วยตนเองได้ ที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับที่ปรึกษาด้านความงามของดร.กร เอสเทติค คลินิก ได้ที่ไลน์ @dr.gornaesthetique มีแพทย์ช่วยประเมินออนไลน์ได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย!
พร้อมให้บริการแล้วทั้ง 4 สาขา ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก หรืออุตรดิตถ์ ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าโดยตรงที่มีประสบการณ์มากกว่า 24 ปี