ภาวะกล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรง (Ptosis หรือ Blepharoptosis)
พบได้ทุกเพศ ทุกวัย อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ อาจเกิดตั้งแต่กำเนิด (Congenital) หรือเกิดขึ้นภายหลัง (Acquired) ก็ได้ บางครั้งหนังตาตก 2 ข้างไม่เท่ากันก็ได้ บางคนฉีดโบโทลินุ่มท็อกซินหน้าผากแล้วหนังตาตกมากกว่าเดิม บางคนทำตา 2 ชั้นด้วยเทคนิคปกติทั่วไปแล้วแย่ลงกว่าเดิม หรือชั้นตาไม่เท่ากันมากขึ้นกว่าเดิม Ptosis เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นผลแบบนั้นได้
ถ้าหากไม่ทราบว่าเรามี Ptosis ก่อนการผ่าตัด ปัจจุบันเราพบภาวะนี้บ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ และมักจะเข้าใจสับสนและแยกไม่ออกจากภาวะหนังตาเกินหรือหย่อนคล้อย (Dermotochalasis)
Ptosis คือ อะไร ?
Ptosis เป็นเพียงอาการของความผิดปกติที่เกิดขึ้น จากความผิดปกติของกลไกอันใดอันหนึ่งของการยกหนังตาขึ้นขณะลืมตาได้แก่ สมองส่วน (Midbrain) เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 (Cranial Nerve III) รอยต่อ (Neuromuscular Junction) ระหว่างเส้นประสาทกับกล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator Palpebrae Superioris) ผังพืดส่วนต่อขยายจากกล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator Aponeurosis) ซึ่งยึดระหว่างกล้ามเนื้อและ (Tarsal Plate) ของเปลือกตา (Eye Lid) และกล้ามเนื้อ Muller Muscle ดังนั้นการตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง มีความผิดปกติเกิดตรงจุดไหนของกลไกที่ควบคุมในการยกหนังตาบนขึ้นจึงมีความสำคัญต่อทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างยิ่งครับ
กลไกการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อยกหนังตา (Upper Eyelid Elevation Control)
Mid - Brain
สมองส่วนกลาง
Cranial Nerve III
เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3
Levator Complex
กล้ามเนื้อยกหนังตา
- เวลาเราลืมตาสมองก็จะส่งกระแสประสาท ผ่านเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ไปสู่กล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator Palpebrae Superioris)
- กล้ามเนื้อยกหนังตาก็จะหดเกร็ง (Contraction) ส่งผลให้หนังตาบนยกขึ้น
- เวลาเราหลับตา สมองก็จะส่งกระแสประสาทผ่าน ทางเดียวกันให้กล้ามเนื้อคลายตัว (Relaxation) หนังตาบนก็จะตกลงปิดลูกตา
กล้ามเนื้อยกหนังบน (Levator Complex)
ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- Levator Palpebrae Superioris
- Levaror Aponeurosis
- Muller Muscle
รู้ได้อย่างไรว่า เรามี Ptosis
เราจะสังเกตุง่าย ๆ นะครับ ในท่าที่มองตรง สบายๆ (แต่ต้องปลอดจากฤทธิ์ของ Botulinum Toxin บริเวณรอบตาและหน้าผากนะครับ) ในคนปกติขอบหนังตาบนจะปิด ขอบบนของตาดำเพียง 1 มิลลิเมตร หรือ 2 มิลลิเมตรในคนสูงวัย แต่ถ้ามันตกลงมาปิดตาดำมากขึ้นกว่านี้ ก็ถือว่าเรามีภาวะ “ Ptosis ” แล้วครับ จะตกลงมาปิดมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ Ptosis
ภาวะปกติสำหรับคนทั่วไป (General)
ขอบล่างของหนังตาบนจะคลุมตาดำไม่เกิน 1 มม.
ภาวะปกติสำหรับคนทั่วไป (General)
ขอบล่างของหนังตาบนจะคลุมตาดำไม่เกิน 2 มม.
- เราจะถือว่ามีภาวะ “PTOSIS” ก็ต่อเมื่อกรณีที่ขอบล่างของหนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำมากกว่าภาวะปกติ
- แต่เราต้องประเมินในขณะที่กล้ามเนื้อบริเวณรอบตาและหน้าผากปลอดจากฤทธิ์ของสารโบโทลินุ่มท็อกซิน (Botulinum Toxin)
ความรุนแรง (Severity) ของ Ptosis มี 3 ระดับ
ระดับเล็กน้อย (Mild Ptosis)
ขอบล่างของหนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำ >1 มม. ในคนวัยหนุ่มสาวหรือ >2 มม.ในคนวัยสูงอายุ
ระดับปานกลาง (Moderate Ptosis)
ขอบล่างของหนังตาบนตกลงมาคลุมตาดำ และม่านตาบางส่วน
ระดับรุนแรง (Severe Ptosis)
ขอบล่างของหนังตาบนตกลงมาคลุมม่านตาเกินครึ่งของม่านตาดำ
ผลของ Ptosis ก็จะมีผลต่อคุณภาพชีวิตและอาการแสดงที่เกิดขึ้นตามความรุนแรงของมันที่เกิดขึ้น
Ptosis มีอาการแสดงออกมาให้เราทราบได้อย่างไร?
ตาจะปรือเหมือนคนง่วงนอน แลดูเศร้าหมองตลอดเวลา หนังตาหย่อนดูไม่สดใส บางคนที่เป็นข้างเดียวอาจทำให้ชั้นตา 2 ข้างไม่เท่ากัน บางคนตื่นแล้ว อาการตาปรือเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ บางคนตาโบ๋ลึก (Sunken Eye / Deep Superior Sulcus) บางคนมีชั้นตาหลายชั้น (Multiple Fold) ยิ่งถ้าคนที่มีอาการมากจะยิ่งเดินขึ้นบันไดลำบากเพราะมุมการมองด้านบนของเราจะลดลง หลายคนต้องติด Sticker หรือ Big Eye ช่วยถ่างตาอยู่ตลอดเวลา
บางคนมีภาวะกล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรงมาจนหนังตาตก ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก (Frontalis Muscle) หดเกร็งค้างนาน บ่อยๆ เพื่อดึงคิ้วและหนังตาขึ้นแทน จนแลดูคิ้วโก่ง และเกิดริ้วรอยเป็นแนวขวางบนหน้าผาก (Horizontal Forehead Line)
บางครั้งถ้าเราไม่แก้ไขและปล่อยทิ้งภาวะ Ptosis ได้นานๆ ก็จะทำให้เกิด ร่องถาวร (Static Line) ได้เลย ซึ่งแก้ไขให้ปกติเหมือนเดิมได้ยาก ในบางคนอาจทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Tension Headache) หรือบางคน ที่เป็นไมเกรน (Migraine) อยู่แล้วก็อาจกระตุ้นให้ Attack ขึ้นบ่อยๆ ได้
Pseudo Ptosis (ภาวะที่หลอกให้เข้าใจว่า เรามีภาวะกล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรง... ทั้ง ๆ ที่เราไม่เป็น)
ก่อนที่เราจะไปรู้จัก Ptosis มากกว่านี้ เราต้องมารู้จัก Ptosis ปลอม หรือ (Pseudo Ptosis) กันก่อนนะครับ Ptosis ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เป็นจริง เพียงแต่หลอกให้เราดูแล้วเหมือนเรามี Ptosis พบในภาวะต่างๆ ดังนี้ คือ
- ภาวะที่มีหนังเปลือกตาหย่อนและมีส่วนเกินมากเกินไป (Dermatochalasia) ซึ่งมักจะพบในวัยสูงอายุ
- ภาวะตาเขลงล่าง (Hypotropia)
- ภาวะลูกตาเล็กถ้าเทียบกับสัดส่วนของเบ้าตา (Microphthalmia) หรือไม่มีลูกตาเลย (Anophthalmia)
- ภาวะความผิดปกติของเปลือกตา (Eyelid Disorders) เช่น อักเสบ , เนื้องอก , มะเร็ง หรือมีไขมัน (Fat) ปริมาณมาก และกล้ามเนื้อเปลือกตา ขนาดใหญ่เกินไป (Orbicularis Oculi Hypertrophy)
- ภาวะไธรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) ในบางราย มีอาการทางตา 2 ข้างไม่เหมือนกัน Contralateral Lid Retraction เป็นต้น
- มีภาวะตาโปนอีกข้างหนึ่ง (Contralateral Exophthalmos) แต่เบ้าตาเท่ากัน ก็จะทำให้แลดูอีกข้างหนึ่งตาเล็กลง
อย่าลืมนะครับ ถ้าหากใครสงสัยว่าตัวเองมีภาวะ Ptosis หรือไม่ หรือไม่แน่ใจตัวเองก็ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญก่อนตัดสินใจทำตา 2 ชั้น นะครับ….
True Ptosis มีสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ?
1.Congenital Ptosis เกิดตั้งแต่กำเนิด
มักเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อยกหนังตาเอง คือ Levator Palpebrae Superioris และ Muller Muscle หรือ ผังพืดส่วนต่อขยายมาจากกล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator Aponeurosis) มีการเจริญและพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ (Dystrophy) หรือบางรายมีผังพืดมาเกาะติดแน่น (Fibrosis) จนทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้น้อยลง หรือทำงานยกหนังตาไม่ได้เลย
ดังนั้นคนที่สงสัยว่าตัวเองเป็น Ptosis ควรนำรูปสมัยตอนเด็กมาให้แพทย์ดู จะช่วยในการวินิจฉัยแยกประเภทของ Ptosis ได้ง่ายขึ้นและยังช่วยในการตัดสินใจในการเลือกเทคนิคการผ่าตัดให้เหมาะสมได้ด้วยครับ
2.Acquired Ptosis คือ เกิดมาภายหลัง
มักจะมีอาการเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น
- ผังพืดส่วนต่อขยายจากกล้ามเนื้อยกหนังตา (Levator Aponeurosis) ยืดหรือหย่อนจากอายุที่มากขึ้น (Senile Change)
- ผังพืดส่วนต่อขยายจากกล้ามเนื้อมีการยืดเป็นเวลานานๆ จากการใช้ Contact Lens / Big Eye หรือจากการผ่าตัดบางประเภทที่ใช้เวลาในการขยายเปลือกตานานๆ บ่อยๆ
- Myasthenia Gravis (MG) พบได้ทุกวัย พบในเพศหญิง มากกว่าเพศชาย เกิดจากมีภูมิคุ้มกันของเราต่อต้าน (Autoimmune Disease) กับ Receptor บริเวณรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อและปลายประสาทที่มาเลี้ยง จึงทำให้กล้ามเนื้อไม่ทำงาน อาจจะเกิดเฉพาะที่หนังตาหรือเป็นที่กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกายก็ได้ เช่น กล้ามเนื้อในการกลืนและหายใจ มักจะมีอาการมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ถ้าเราพยายามยกหนังตาและมีอาการเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย โดยเฉพาะถ้ามีการกลอกตามากขึ้น ซึ่งหากเราสงสัยต้องพบจักษุแพทย์หรือ อายุรแพทย์ระบบประสาท เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป เพราะอาการทางตา (Ptosis) อาจเป็นแค่อาการเริ่มต้นของโรค ซึ่งอาจมีอาการร้ายแรงตามมาได้
- เกิดจากอุบัติเหตต่อกล้ามเนื้อหรือการผ่าตัดตา 2 ชั้น ด้วยเทคนิคที่ไม่เหมาะสม (Traumatic Ptosis) มีอุบัติเหตุต่อกล้ามเนื้อ (Levator Muscle) หรือผังพืดส่วนต่อขยายกล้ามเนื้อ (Levator Aponeurosis) หรือทั้ง 2 อย่างก็ได้ ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความละเอียดในการผ่าตัดแก้ไขภาวะดังกล่าว
- ผลข้างเคียงของการฉีด Botulinum Toxin บริเวณหน้าผาก , ขมวดคิ้วและตีนกาที่ผิดเทคนิคหรือปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะคนที่มีภาวะ Ptosis อยู่ก่อนการฉีด ก็จะยิ่งมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น การแก้ไข คือ รอให้ Botulinum Toxin หมดฤทธิ์หรือพบแพทย์เพื่อรับยาหลอดตาที่ช่วยยกหนังตาขึ้น แต่ก็มีผลยกได้สูงสุดเพียง 3 มิลลิเมตร เท่านั้น
ถ้าเรามีภาวะกล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรง (Ptosis) แล้วไปทำตา 2 ชั้น ปกติธรรมดาจะเกิดอะไรขึ้น?
จะทำให้กล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้เหมือนปกติ (Traumatic / Mechanical Ptosis) ยิ่งถ้าการผ่าตัดครั้งนั้น ทำผิดเทคนิค มีเลือดออกมาก มีการFixชั้นที่สูงกว่าปกติ มีการตัดไขมัน (Preaponeurotic Fat) ออกมากเกินไป เพื่อหวังให้ชั้นตาโตๆ ก็จะยิ่งทำให้เกิด Ptosis ที่แย่กว่าเดิม การผ่าตัดแก้ไขภายหลัง (Revision Surgery) ก็จะยิ่งทำได้ยากกว่าเดิม
ถ้าเราสงสัยว่าเรามี Ptosis ต้องทำอย่างไร?
- ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเกิด Ptosis อย่าลืมว่า Ptosis เป็นเพียงอาการของความผิดปกติหลายๆ อย่าง เหมือนเราบอกว่า “ ไข้ ” มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดไข้ แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
- สาเหตุบางอย่างต้องแก้ไขด้วยยาก่อน จึงจะผ่าตัดภายหลัง บางสาเหตุรักษาโดยการผ่าตัดได้เลย
บางสาเหตุต้องมีการสืบค้นต่อว่ามีความผิดปกติอะไรอีกในระบบอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ - โดยมาตรฐานทางการแพทย์ คนที่เพิ่งมีอาการ “ Ptosis ” มาไม่นานคือภายใน 6 เดือน หรือไม่แน่ใจว่าเป็นตั้งแต่เกิดหรือไม่ ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวินิจฉัยก่อนเสมอ
ถ้า Ptosis ที่เกิดจากกล้ามเนื้อยกหนังตาอย่างเดียว เราจะมีวิธิการแก้ไขอย่างไรบ้าง ?
คำตอบ คือ วิธีเดียวที่แก้ไขได้ คือ การผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อยกหนังตาอ่อนแรง (Ptosis Correction Surgery) ซึ่งแพทย์จะเลือกเทคนิคการผ่าตัดแบบไหน แผลนอกหรือแผลใน ผ่าตัดเสร็จแล้วจะได้ผลดีแค่ไหนและผ่าตัดแก้ไขไม่สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
- ชนิดของ Ptosis ; เป็นแต่กำเนิด (Congenial Ptosis) จะผ่าตัดยากและล้มเหลวมากกว่าประเภทที่เกิดภายหลัง (Acquired Ptosis)
- ตำแหน่งของสาเหตุที่ผิดปกติว่าผิดปกติตรงไหน เช่น กล้ามเนื้อ (Levator Palpebrae Superior) หรือกล้ามเนื้อ (Muller Muscle) หรือทั้ง 2 มัดเลย หรือเป็นบริเวณผังพืดส่วนต่อขยายกล้ามเนื้อ (Levator Aponeurosis) หรือเป็นทั้งหมดเลย (Levator Complex)
- มีผังพืด (Fibrosis) มากน้อยแค่ไหน จากการผ่าตัดครั้งแรกถ้ามีมาก เคยผ่าตัดแล้วมีเลือดออกมาก แพทย์ใช้เวลาผ่าตัดนาน ก็จะยิ่งผ่าตัดแก้ไขยาก และโอกาสที่จะได้ผล 100% ก็คงจะยาก
- ในกรณีเคสผ่าตัดแก้ไข ที่ถูกตัดไขมันในเบ้าตา (Orbital หรือ Preaponeurotic Fat) ออกไปมาก ; ก็ยิ่งผ่าตัดแก้ไขยาก เพราะจะทำให้การป้องกันการเกิดผังพืดใหม่ซ้ำที่เดิมก็จะทำได้ยากขึ้น
- อายุของคนไข้
- ในกรณี Ptosis เป็นผลจากการผ่าตัด โดยปกติเราจะผ่าตัดแก้ไขทันทีภายใน 7 วัน หรือหลังจากการผ่าตัดแรกผ่านไปแล้ว 3-6 เดือนขึ้นไป จึงจะมีโอกาสสำเร็จกว่าช่วงเวลาอื่นๆ