fbpx

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ

บริเวณหนังตาล่าง (Lower Eyelid) ถือว่าเป็นบริเวณสำคัญของใบหน้าครับ   เนื่องจากเป็นบริเวณแรกของใบหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว   จะเป็นสัญญาณเตือนของความเสื่อมบนใบหน้า (Early Sign of Aging Face)

ถุงใต้ตา (Eyebags) เป็นหนึ่งในอาการแสดงของความเสื่อมของตาล่างและแก้ม (Lower Eyelid & Midface Aging Process)    เวลาเรามีถุงใต้ตาจะทำให้แลดูเหนื่อยล้า (Tired Look) , เศร้าหมอง (Sad Look) และมองเห็นรอยต่อระหว่างบริเวณใต้ตาและแก้มชัดเจนขึ้น    (Elongation Of Lid-Cheek Junction)  ยิ่งทำให้แลดูมีอายุมากขึ้น   

บางคนมีถุงใต้ตาร่วมกับภาวะกล้ามเนื้อใต้ตาโต (Pretarsal Orbicularis Oculi Hypertrophy) หรือ ทำ Dolly Eye มาก่อน     จะทำให้มองเห็นบริเวณใต้ตาเป็น 2 ลอน (Double Contour)      เนื่องจากมีการหย่อนคล้อยของถุงใต้ตา (Orbital Septum) จะทำให้ไขมันใต้ตา (Infraorbital Fat) โป่งพองออกมาให้เห็นเป็นถุงยิ่งถุงไขมันมีขนาดใหญ่    ก็จะทำให้เห็นเงา (Shadow) บริเวณใต้ถุงชัดขึ้น      ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดรอยดำคล้ำรอบดวงตา (Dark Circle)   ในกรณีดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้เราแลดูสูงวัย และรู้สึกแย่ลงไปอีก จนขาดความมั่นใจได้ บางครั้ง Make up กลบไม่ได้       โดยเฉพาะเวลาเรานอนดึกเป็นประจำ , เวลายุ่งกับงานและเครียดหนัก ๆ ติดต่อกัน    ถึงแม้ว่าเวลายิ้มแก้มเราจะยกขึ้น และทำให้ดูดีขึ้นก็ตาม  

เราจะบอกลาถุงใต้ตาได้อย่างไร ?
เราจะบอกลาถุงใต้ตาได้อย่างไร ?
เราจะบอกลาถุงใต้ตาได้อย่างไร ?

ภาวะปกติของบริเวณใต้ตา (Normal Undereye Area)

  • ผิวหนังใต้ตาเรียบเนียน
  • ไม่มีริ้วรอย (Wrinkle)
  • ไม่มีถุงใต้ตา (Eyebags)
  • ไม่มีร่องใต้ตา หรือมีเล็กน้อย (Tear Trough)
  • บริเวณใต้ตา (lower eyelid) จะกลมกลืนกับแก้ม (Cheek) โดยไร้รอยต่อ (Obvious Lid-Cheek Junction)

ภาวะที่มีความเสื่อมของบริเวณใต้ตาและแก้ม (Aging Lower Eyelid & Midface)

  • มีถุงใต้ตา (Eyebags)
  • ร่องใต้ตา (Tear Trough Deformity)
  • รอยคล้ำใต้ตา (Dark Circle)
  • ผิวหนังใต้ตาเหี่ยวย่นและมีริ้วรอย (Skin Redundancy / Wrinkle / Furrow) 
  • ร่องใต้ตายาวลงมาจนถึงบริเวณแก้ม (Midcheek Groove / Indian Band)
  • ขอบตาล่างหย่อน (Lid laxity)
  • ขอบตาล่างรั้งและปลิ้น (Lid Retraction / Ectropion)
  • มองเห็นตาขาว (Scleral Show) ซึ่งในภาวะปกติคนเราจะมองไม่เห็นตาขาวบริเวณใต้ตาลูกตาดำ
  • ใต้ตาโบ๋หรือบางครั้งเห็นแนวของกระดูกของเบ้าตา (Infraorbital Hollowness)
  • กระดูกแก้มยุบตัวลง ( Malar / Maxilla Hypoplasia)
  • บางครั้งจะเห็นรอยต่อของบริเวณใต้ตาและแก้มชัดเจนขึ้น (Elongation Of Lid-Cheek Junction)
  • มีร่องแก้มลึกและเห็นชัดขึ้น (Deepen Nasolabial Fold)

การแก้ไขปัญหาของตาล่างทำได้อย่างไรบ้าง (Low Eye Lid-Cheek Junction Rejuvenation)

วิธีการแก้ไขมีหลายวิธีโดยแพทย์จะพิจารณาตามปัจจัยหลายๆ อย่าง ได้แก่

  1. ปริมาณถุงใต้ตาว่ามีมากน้อยแค่ไหน (Severity Of Eyebags)
  2. โครงสร้างของแก้มโดยเฉพาะกระดูกบริเวณแก้มว่าปกติ, ยุบตัว หรือโหนกนูนแค่ไหน (Vector of Midface)
  3. ความพร้อมของคนไข้ ทั้งด้านงบประมาณ, ค่าใช้จ่าย, เวลาในการพักฟื้น และการยอมรับข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี (Pros & Cons)
  4. ความถนัดของแพทย์แต่ละท่าน (Technical Skills)

ปัญหาตาล่างที่พบบ่อยได้แก่

  1. กรณีที่มีหนังส่วนเกิน หรือมีรอยย่นใต้ตา (Static & Fine Wrinkle / Skin Redundancy) การแก้ไขคือ การผ่าตัดหนังส่วนเกินออก (Skin Excision)
  2. กรณีที่มีริ้วรอยใต้ตาที่เห็นชัดเวลาแสดงสีหน้า เช่น เวลายิ้ม (Dynamic Wrinkle) การแก้ไขคือ การฉีด Botulinum Toxin เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณใต้ตา (Orbicularis Oculi) เป็นครั้งคราว (ทุก 4-6 เดือน)
  3. กรณีที่มีปัญหาร่องใต้ตา (Tear Trough)  การแก้ไข สามารทำได้หลายวิธีเช่น
    • การฉีด Filler
    • การเติมเต็มไขมัน (Fat Graft)
    • การย้ายถุงไขมันใต้ตา (Orbital Fat Repositioning)
  4. กรณีที่มีร่องแก้มชัดมีทางเลือก 2 วิธี ตามความลึกของร่องแก้มและปัญหาที่พบร่วมด้วย ได้แก่
    • การฉีด Filler หรือ Fat Graft
    • การดึงร่องแก้ม (Midface Lift Surgery) ผ่านแผลบริเวณใต้ตา (Subciliary Approach) หรือผ่านแผลบริเวณขมับ (Transtemporal Approach)
  5. กรณีมีปัญหาถุงใต้ตา (Eyebags)

วิธีการแก้ไข

ปัญหาถุงใต้ตาในปัจจุบัน   หมอแยกได้เป็น 2 วิธี หลักๆ แล้วกันครับ

วิธีที่ 1

การเติมเต็มบริเวณใต้ต่อถุงใต้ตาให้แลดูเรียบเนียนขึ้น (Camouflage Filling) เหมาะสำหรับกรณีที่ถุงใต้ตาไม่มาก และกรณีแก้ม หรือ ขอบตาล่างยุบตัว (Negative Vector  of Midface) สารเติมเต็มที่นิยมใช้มี  2  ประเภทได้แก่

1.1) การเติม Filler (Hyaluronic Acid ; HA)

เป็นสารสังเคราะห์ทางการแพทย์ที่มีอายุอยู่ได้นานตั้งแต่  4-18 เดือนตามขนาดโมเลกุล    และเทคโนโลยีการผลิต HA ของแต่ละบริษัทฯ     สาร HA ที่ขนาดโมเลกุลเล็กก็จะมีข้อดี คือ เติมได้เรียบเนียนแต่อายุก็จะสั้น (4-6 เดือน)   และต้องเติมบ่อ     ส่วน HA ที่มีโมเลกุลใหญ่ก็จะอยู่ได้นาน (12-18 เดือน) แต่ก็อาจจะรู้สึกคลำได้ก้อน และไม่เรียบเนียน  ในบางเคสแพทย์จะพิจารณาใช้สาร HA ทั้ง 2  ขนาดร่วมกัน

1.2) การเติมไขมัน (Autologous Fat Graft)

โดยใช้ไขมันส่วนเกินของตัวเองบริเวณท้องหรือต้นขาเป็นต้น มาเติมเต็ม เหมาะสำหรับคนที่ต้องการสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเราเองมาใช้, บริเวณใต้ตา การเติมไขมันได้ผลดีและอัตราการอยู่รอด (Survival Rate) ของเซลล์ไขมันค่อนข้างสูงกว่าบริเวณอื่นๆ ของใบหน้า

ข้อดีของการเติมเต็มไขมันบริเวณใต้ตาอีกหนึ่งอย่างคือ    ถ้าเซลล์ไขมันแข็งแรงดีและร่างกายของเราสามารถสร้างเส้นเลือดใหม่เข้าไปแทรกเพื่อหล่อเลี้ยงได้สมบูรณ์ (Neovascularization) โอกาสที่เซลล์ไขมันจะติด (Take Graft) และคงอยู่ได้นาน หรืออยู่ได้ตลอดชีวิต ก็จะสูงขึ้นไม่ต้องเติมซ้ำบ่อยๆ

วิธีที่ 2

การปรับแต่งไขมันบริเวณใต้ตา ( Inferior Orbital Fat Management)   มีอยู่  2  วิธี คือ

2.1) การเอาถุงใต้ตาออก (Eye Bag Removal)

ในกรณีที่มีถุงใต้ตามาก โดยแพทย์จะพิจารณาเอาออกได้ 2 วิธี คือ

  • เอาออกโดยผ่านแผลด้านในตา โดยไม่มีแผลด้านนอกให้เห็น
    (Trans Conjunctival Approach)
  • เอาออกโดยผ่านแผลด้านนอก หรือใต้ตาประมาณ 2 มิลลิเมตร (Subcilliary Approach) แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีที่ต้องการตัดหนังส่วนเกินบริเวณใต้ตาจะออก หรือต้องการดึงร่องแก้ม (Midface Lift) ร่วมด้วย
             ในบางกรณีแพทย์จะพิจารณาเอาไขมันถุงใต้ตาออกเพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบแล้วค่อยเติมเต็ม (Retouch) ด้วยไขมัน (Nano Fat Graft) ให้ดูเรียบเนียนมีมิติที่สมดุลย์กับแก้มทันทีหลังผ่าตัดหรือรอ 1-3 เดือน หลังผ่าตัด

2.2) การย้ายไขมันจากถุงใต้ตาโดยไม่ตัดออกหรือตัดออกบางส่วน

แล้วย้ายไขมันไปคลุมบริเวณขอบตาล่าง หรือบริเวณรอยต่อระหว่างขอบตาล่างและแก้ม ที่มีการยุบตัวลง (Orbital Fat Repositioning Technique)    เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือได้ทั้งลดขนาดถุงใต้ตาออก และเติมไขมันบริเวณรอยต่อของเบ้าตาและแก้มอีกด้วย  แต่ในกรณีที่มีการยุบตัวของแก้มและขอบตา. ไขมันที่ย้ายอาจไม่เพียงพอ. แพทย์อาจพิจารณาเติมไขมัน (Fat Graft) จากบริเวณอื่น ๆ เพื่อให้เรียบเนียน มีมิติสมบูรณ์มากขึ้นครับ

ท้ายนี้ หมอขอฝากคำแนะนำสำหรับคนที่ไม่อยากให้ตาล่างของตัวเองเสื่อมก่อนวัยอันควร หรือต้องการชะลอความเสื่อมบริเวณใต้ตาให้เกิดช้าที่สุด ดังนี้ครับ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการซ่อมแซมตัวเอง รวมถึงผิวหนังบริเวณใต้ตาโดยการเสริมสร้างเส้นใย Collagen มาทดแทนได้ทัน กับการถูกทำลายจากความเครียด, แสงแดด มลพิษในปัจจุบัน. โดยเฉพาะในคนที่อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป ขบวนการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังจะน้อยกว่าขบวนการเส้นใยคอลลาเจน ทีมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของถุงหุ้มไขมัน (Orbital Septum) ที่จะป้องกันการโป่งพองของไขมันใต้ตา
  1. คนที่มีปัญหาหรือโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตา (Allergic Conjunctivitis) และโรคโพรงจมูกอักเสบแบบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ควรดูแลตัวเอง และควบคุมภูมิแพ้ไม่ให้กำเริบบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี และเหมาะสม. หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากพยาธิสภาพของโรคภูมิแพ้เอง และการขยี้ตาจากอาการคัน จะส่งเสริมให้เกิดอาการบวมและรอยคล้ำใต้ตาให้มากขึ้น
  2. ผิวหนังบริเวณรอบตา (Eyelid Skin) เป็นผิวหนังที่บาง จึงเกิดอาการแพ้, ระคายเคือง และแห้งได้ง่าย จึงเป็นปัจจัยให้เกิดรอยย่นคล้ำใต้ตาได้ง่ายมากๆ
    ดังนั้นการดูแลและถนอมผิวหนังบริเวณใต้ตาเป็นประจำ. สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการทาครีมบำรุงแบบอ่อนโยนเช้า-เย็น และในแต่ละวันดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อเก็บกักความชื้นให้พอเหมาะต่อผิวหนังตลอดเวลา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของผลิตภัณฑ์ผิวรอบดวงตา (Eye Cream)

“ Lower eyelid change is the earliest signs of aging face ”

นพ.สุวิน   สมเงิน (หมอกร)

นพ.สุวิน สมเงิน (หมอกร)

แพทย์เฉพาะทางอนุสาขาศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า

ดูโพสต์อื่นของคุณหมอ